RadPra

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สืบสานตำนาน “วัดดอนศาลา” สำนักตักศิลาไสยเวทย์เขาอ้อ พ่อท่านมหาอุทัย วิมโล

สืบสานตำนาน “วัดดอนศาลา” สำนักตักศิลาไสยเวทย์เขาอ้อ
            
            สืบทอดพุทธาคม พระครูสิทธยาภิรัต (พ่อท่านเอียด) พระอาจารย์นำ  ชินวโร   พระครูกาชาด (บุญทอง)  พระครูสิริวัฒนาการ (อาจารย์ศรีเงิน)
            วัดดอนศาลา  ต.มะกอกเหนือ  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  ซึ่งถือเป็นวัดน้อง  ของวัดเขาอ้อ  มีความเชื่อมโยงกับสำนักวัดเขาอ้อ โดยตรง  ในอดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  มักจะมาจากวัดเขาอ้อ   ตามประวัติไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด  แต่สันนิษฐาน ว่ามีอายุใกล้เคียง กับวัดเขาอ้อ  บางตำราว่าสร้างราว พ.ศ.๒๐๓๓    พระครูกาชาด (พ่อท่านบุญทอง)  ได้เล่าไว้ว่า  เดิมชื่อวัดท่ายูง  ดังลายแทงปริศนาที่ชาวบ้านจำต่อๆกันมาว่า  “วัดท่ายูง  ต่อกับวัดท่ายาง  เงินทองสองอ่างอยู่ใต้นางรำ”  ต่อมามีคนแก้ลายแทงได้  แล้วมาขุดสมบัติใต้ฐานพระไป  ส่วนที่มาของชื่อ  วัดดอนศาลา  นั้นเล่ากันว่า ทางทิศตะวันออกของวัด  (วัดอยู่ท้ายบ้าน  เดิมที่หมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด) มีศาลาพักร้อนของขบวนช้าง  พวกแขกไทรบุรีที่เดินทางนำดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปถวายกษัตริย์ไทย  โยผ่านทางเมืองนครศรีธรรมราช  จึงได้เรียกว่า  “วัดดอนศาลา”                

            
            ลำดับเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  เท่าที่ปรากฏหลักฐานมี ๑๑ รูป  คือ              
            ๑. พ่อท่านสมภารทองด้วง
            ๒. พ่อท่านสมภารเอียด (พ่อท่านในเขื่อน)  
            ๓. พ่อท่านคลั่ง              
            ๔. พ่อท่านเคี่ยม                  
            ๕. พ่อท่านจางวาง              
            ๖. พ่อท่านปาน                  
            ๗. พ่อท่านสมภารเกลี้ยง   แก้วจันทร์  
            ๘. พ่อท่านเพชร  (ถึง พ.ศ.๒๔๕๙)          
            ๙. พระครูสิทธิยาภิรัต  (เอียด  ปทุมสโร)  พ.ศ.๒๔๕๙ – ๒๔๙๑              
            ๑๐. พระครูกาชาด  (บุญทอง)   พ.ศ.๒๔๙๑ – พ.ศ.๒๕๔๔                  
            ๑๑. พระมหาอุทัย   วิมโล  ป.ธ.๗   พ.ศ.๒๕๔๔ – ปัจจุบัน  
             
            
            สุดยอด เกจิอาจารย์ของวัดดอนศาลา  มีหลายรูป แต่ที่ต้องกล่าวถึงเป็นรูปแรก คือ พระครูสิทธิยาภิรัต  หรือ พ่อท่านเอียด  ปทุมสโร  พระเถระที่ได้ทำคุณประโยชน์กับท้องถิ่นและประเทศชาติเป็นอย่างมากท่านเป็นหนึ่งใน  ท่านเป็นศิษย์เอก  ของพระครูสังฆวิจารย์ฉัตรทันต์บรรพต  หรือ  พระอาจารย์ทองเฒ่า  แห่งวัดเขาอ้อ  พ่อท่านเอียด  ยังเป็นอาจารย์ของ ขุนพันธรักษ์ราชเดช  ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕   อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเขาอ้อ  โดยมี พระอาจารย์ทองเฒ่า  เป็นอุปัชฌาย์  ได้ศึกษาพระธรรมวินัย  ไสยศาสตร์  และแพทย์แผนโบราณ จากพระอาจารย์ทองเฒ่า  จนแตกฉาน  จนพระอาจารย์ทองเฒ่า ได้หมายตัว ไว้สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ  ต่อมาวัดดอนศาลา  ได้เกิดว่างเจ้าอาวาส  พระอาจารย์ทองเฒ่าได้ส่ง  พระอาจารย์เอียด  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ  และเป็นพระอุปัชฌาย์  พ.ศ.๒๔๗๓  ได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นประทวน  ที่ พระครูเอียด  ปทุมสโร   พ.ศ.๒๔๘๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสิทธิยาภิรัต                 
            
            พ่อท่านเอียด  เป็นผู้นำชาวบ้านดอนศาลา  และใกล้เคียง พัฒนาท้องถิ่นจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นในวัด  และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรให้โรงเรียน  ตัดถนนจากวัดไปเชื่อมต่อ ถนนสายควนขนุน –ปากคลอง  ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน  พ.ศ.๒๔๘๓  เกิดสงครามอินโดจีน  พ่อท่านเอียด  ได้จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อแจกเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทหาร และ พลเรือน  เช่น ลูกอม  ผ้าประเจียด  ตะกรุด ผ้ารองหมวก ปลอกแขวน  โดยปลุกเสกในถ้ำ ฉัตทันต์วัดเขาอ้อ  ท่านถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑  สิริรวมอายุได้ ๖๖ ปี                                              
          
            พระเกจิ รูปต่อมา ตือ พระครูกาชาด  (บุญทอง  เขมทตฺโต)  ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ที่ได้รับการถ่ายทอดตำราสายเขาอ้อ จากพ่อท่านเอียด  ท่านพิถีพิถันในการสร้างวัตถุมงคลอย่างเคร่งครัด  วัตถุมงคลของท่านจึงมากด้วยประสบการณ์   ท่านมีนามเดิมว่า  บุญทอง   นามสกุล  มีพลอย  เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓   ณ บ้านดอนศาลา  หมู่ ๘ ต.มะกอกเหนือ  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  โยมบิดาชื่อนายพ้อย  มารดาชื่อ นางเขียว  มีพลอย  มีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๓ คน  คือ นายด้วง นางผึ้ง และพระครูกาชาด  เมื่ออายุได้ ๓ เดือน บิดาก็ถึงแก่กรรม  พออายุได้ ๘ ปี ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดดอนศาลา  จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปี ที่ ๔  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗  เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้คิดแทนคุณบิดามารดา  จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดดอนศาลา  เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓  โดยมี พระครูสิทธิยาภิรัต  (เอียด)  เป็นอุปัชฌาย์
              
            
            ท่านพระครูกาชาด  มีความเชี่ยวชาญ ในเรื่องไสยศาสตร์ตั้งแต่วัยหนุ่ม  สำเร็จวิชาสายเขาอ้อหลายแขนง  เป็นศิษย์รักของ พ่อท่านเอียด  ซึ่งพ่อท่านเอียด  ได้ชื่นชมว่าท่านเก่งจริงรู้จริงด้านไสยศาสตร์  ในปี พ.ศ.๒๔๘๗  พ่อท่านเอียด  ได้ทำพิธีส่งมอบตำรา คัมภีร์ต่างๆ ของสายเขาอ้อให้แก่ พระครูกาชาด ที่วัดดอนศาลา  เพื่อให้เป็นการสืบตำราสายเขาอ้อ  อย่างเป็นทางการ  โดยมีอาจารย์นำ  แก้วจันทร์  ซึ่งขนาดนั้นยังอยู่ในเพศคฤหัสถ์  ร่วมเป็นสักขีพยาน  พร้อมกับศิษย์เขาอ้อ อีกหลายคน  หลังจากนั้นไม่นานพ่อท่านเอียด  ก็ได้มรณภาพลง   พระครูกาชาด   ก็ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  และเป็นผู้รักษาตำราเขาอ้อ  สืบมา                        
            
            พระเกจิรูปต่อมาถือได้ว่า ถ้ากล่าวถึงวัดดอนศาลา ทุกคนจะนึกถึงท่าน  ท่านคือ  “พระอาจารย์นำ  ชินวโร”ชาติภูมิ  ท่านเกิดมีวันศุกร์ เดือน๙  พ.ศ.๒๔๓๔  ที่บ้านดอนนูด  ต.ปันแต  อ.ควนขนุน จ.พัทลุง    เป็นบุตรนายเกลี้ยง  นางเอียด  แก้วจันทร์    มารดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก  บิดาเป็นอาจารย์จอมขมังเวทย์   ที่เก่งกล้าทางไสยศาสตร์  (ภายหลังอาจารย์เกลี้ยง  ได้บวช และเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  ดังนั้นอาจารย์นำ  จึงมีโอกาสศึกษาวิชาทางไสยศาสตร์ตั้งแต่เด็ก   บิดายังนำไปฝากให้ศึกษาวิชาเวทย์มนต์คาถากับพระอาจารย์ทองเฒ่า  วัดเขาอ้อ  เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท  ณ พัทธสีมา วัดดอนศาลา  โดยมี พระครูอินทรโมลี  วัดปรางหมู่นอก  เป็นอุปัชฌาย์  พระครูดิษฐ์  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  อยู่ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกวิปัสนากรรมฐาน และศึกษาไสยศาสตร์ จาก พ่อท่านเอียด  ๖ พรรษา  จึงได้ลาสิกขา แล้วได้สมรสกับนางสาวพุ่ม  มีบุตรร่วมกัน ๔ คน  พระอาจารย์นำ  หลังจากลาสิกขา  ก็ได้ช่วยพระอาจารย์ทองเฒ่า  ประกอบพิธีกรรม ต่างๆ ในฐานะศิษย์ฆราวาส  และต่อมา เมื่อพ่อท่านเอียด  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  อาจารย์นำ  ก็มาช่วยพ่อท่านเอียด  ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในยุคแรก จะมีศิษย์คู่บารมีอยู่แล้วคือ ผู้ใหญ่บ้านยอดแก้ว  ต่อมาเมื่อผู้ใหญ่บ้านยอดแก้ว  อายุมากขึ้น  ภาระหน้าที่ก็ตกมาเป็นของอาจารย์นำ  เรื่อยมาจนพ่อท่านเอียด  มรณภาพ   ก็ได้ช่วย พระครูกาชาด สืบต่อมา   

            
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ อาจารย์นำ อายุได้ ๗๔ ปี ได้ล่มป่วยอาการทรุดหนักลงตามลำดับ  จนญาติได้เตรียมจัดงานศพไว้รอ  แต่แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิด  เมื่อภาพนิมิตของพระอาจารย์ทองเฒ่า  ได้ปรากฏให้เห็น แล้วบอกว่า “หากรับปากจะกลับไปบวชอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยที่เป็นอยู่จะกลับกลายเป็นปกติ  ทั้งยังมีโอกาสได้ทำนุบำรุงวัดดอนสาลา และ พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป  ครั้นเมื่อท่านรับปากอาการเจ็บป่วยก็ทุเลาเป็นลำดับ  และหายเป็นปกติ  จากนั้นวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๖ อาจารย์นำ จึงเข้าอุปสมบทอีกครั้ง   ณ พัทธสีมาวัดดอนศาลา  โดยมี พระพุทธิธรรมธาดา  วัดสุวรรณวิชัย  รองเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูกรุณานุรักษ์  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และ พระครูกาชาด (บุญทอง)  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  และได้จำพรรษา ณ วัดดอนศาลา  โดยมีลูกศิษย์รูปสำคัญค่อยดูแล คือ พระอาจารย์ศรีเงิน  อาภาธโร    
            
            พระอาจารย์นำ  ได้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ในสมัยฆราวาสได้ช่วยทางราชการปราบโจรผู้ร้าย  นอกจากนี้ยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์  ดังเห็นได้จาก เมื่อพระอาจารย์นำ  ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมอาการป่วยของพระอาจารย์นำ   ที่กุฏิ นาน ๒ ชั่วโมง  นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์นำเป็นอย่างยิ่ง        
          
            วาระสุดท้ายพระอจารย์นำ  ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙  เวลา ๒๒.๐๐ น. สิริอายุได้ ๘๘ ปี ๑๒ พรรษา  และในปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  เสด็จฯพระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประทับหลังเหรียญที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ  วัตถุมงคลของท่านเป็นที่ต้องการของสาธุศิษย์เป็นอย่างมากเพราะมากด้วยประสบการณ์  ในปัจจุบันเล่นหากันราคาสูงมาก      
 
                   
            
            ต่อไปจะกล่าวถึง พระอาจารย์ ที่มีชื่อของวัดดอนศาลาอีกรูปหนึ่ง  คือ พระครูสิริวัฒนการ  หรือ พระอาจารย์ศรีเงิน  อาภาธโร  อดีตรองเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  ท่านเป็นศิษย์เอก ของ พระอาจารย์ปาล  ปาลธมฺโม  วัดเขาอ้อ  และพระอาจารย์นำ            
          
            
ชาติภูมิ  นามเดิม  ศรีเงิน   นามสกุล  ชูศรี  เกิด เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๗๒  ที่บ้านไผ่รอบ  ต.ควนปันแต  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  เป็นบุตรของ นายสุด นางเฟื่อง   ชูศรี  เป็นคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๕ คน โยมมารดาเสียงชีวิตตั้งแต่อายุได้ ๗ ปี  ต่อมาโยมพ่อ ได้ให้เข้าเรียน ที่โรงเรียนวัดดอนศาลา  จนจบประถมชั้นที่ ๔  และได้มาช่วยงานบิดา จนอายุได้ ๑๗ ปี บิดาก้ถึงแก่กรรมไปอีกคน  เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี  ได้คิดที่จะบวชแทนคุณบิดามารดา  จึงได้อุปสมบท ณ พัทสีมา  วัดดอนศาลา  เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓  โดยมี พระพทธิธรรมธาดา  เจ้าอาวาสวัดสุวรรณวิชัย  รองเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูกรุณานุรักษ์  เจ้าคณะอำเภอควนขนุน  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูกาชาด  วัดดอนศาลา  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายา อาภาธโร  ท่านจำพรรษาอยู่วัดดอนศาลา  ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย  และวิชาอาคม  ด้วยความสนใจ  พระอาจารย์ศรีเงิน  เป็นศิษย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาสายเขาอ้อ  จาก พระอาจารย์ปาล  วัดเขาอ้อ  ซึ่งถือเป็นศิษย์เอก ของพระอาจารย์ปาล  ในตอนที่พระอาจารย์ปาล ชราภาพ  ท่านก็ได้พาอาจารย์ปาล  มาจำพรรษาที่วัดดอนศาลา  และดูแลปรนนิบัติ จนท่านมรณภาพ  ท่านยังถือได้ว่าเป็นศิษย์เอก พระอาจารย์นำ  ชินวโร  และได้ดูแลปรนนิบัติ จนท่านมรณภาพ เช่นกัน  นอกจากนี้ยังได้ ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจาก พระครูพิพัฒน์สิริธร หรือ พ่อท่านคง  สิริมโต  วัดบ้านสวน   และอาจารย์เปรม  นาคสิทธิ์  ถือได้ว่าเป็นผู้สืบทอดวิชาสายเขาอ้อ  อย่างแท้จริง  อาจารย์ศรีเงิน  มรณภาพเมื่อ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓  สิริอายุได้ ๗๒ ปี พรรษา ๕๑                              
            ต่อจากนี้ จะขอกล่าวถึง พระเกจิ  ในยุคปัจจุบัน ของวัดดอนศาลา  ท่านคือ พ่อท่านพระมหาอุทัย  วิมโล  ปธ.๗  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน  ซึ่งเป็นเกจิที่มีชื่อเสียงของสายเขาอ้อในปัจจุบัน  เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป  ได้รับกิจนิมนต์ในการนั่งปรกพุทธาภิเษก ไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซียและสิงคโปร์  ท่านเป็นสหธรรมมิกร่วมรุ่น กับ พ่อท่านศรีเงิน  วัดดอนศาลา  พ่อท่านช่วง  วัดควนปัตตาราม  พ่อท่านคล้อย  วัดภูเขาทอง   ซึ่งเป็นเกจิสายเขาอ้อ ที่มีชื่อเสียง และเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์ กับ พ่อท่านช่วง และ พ่อท่านคล้อย  ชาติภูมิ  นามเดิม  อุทัย   นามสกุล  ขำตรี  เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม  พ.ศ.๒๔๗๑  ที่บ้าน หมู่ ๗ บ้านไผ่รอบ  ต.ปันแต  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  เป็นบุตรของ นายแดง   นางอุ้ย  ขำตรี  บิดามารดาได้ให้เข้าเรียน ที่โรงเรียนวัดดอนศาลา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔  และได้ช่วยงานทางบ้าน จนอายุได้ ๒๑ ปี ได้บวชแทนคุณบิดามารดา  ตามประเพณีของชายไทย  ณ พัทธสีมาวัดควนปัตตาราม  ต.ปันแต  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง  เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๙๒  โดยมี พระครูรัตนาภิรัต (พ่อท่านเน)  วัดควนปัตตาราม  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอาจารย์เกิด   วัดควนปัตตาราม  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และ พระครูกาชาด (บุญทอง)  วัดดอนศาลา  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายา ว่า “วิมโล”
            
             อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดควนปัตตาราม  ๑ พรรษา ได้ศึกษาพระธรรมวินัย  วิปัสสนากรรมฐาน  จาก พ่อท่านเน  อย่างเคร่งครัด  และก็ได้มาศึกษา กับ พระครูกาชาด   บ้าง   พระอาจารย์ปาล   วัดเขาอ้อ  บ้าง  แต่ด้วยในสมัยการเรียนปริยัติธรรมของพระจะต้องเข้าไปเรียนในเมืองจะมีสำนักเรียนอยู่  ท่านจึงได้ลา พ่อท่านเน  ไปอยู่จำพรรษา ที่วัดวังตะวันตก  อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช  ๑ พรรษา โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ พ่อท่านสงฆ์  เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก ในสมัยนั้น  ต่อมาในพรรษาที่ ๓ ได้ ย้ายมาจำพรรษา ที่วัดแจ้ง  อ.เมือง จ.สงขลา  ซึ่งมีสำนักเรียนบาลี  ในสมัยนั้นมี พระราชวชิรโมลี เป็นเจ้าอาวาส และเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา  ท่านเป็นชาวจังหวัดพัทลุงเหมือนกัน  อยู่จำพรรษาวัดแจ้ง ๕ พรรษา สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค  ในสมัยนั้น พ่อท่านพลัด  ภทฺทิโย   วัดโคกสูง  ท่านจำพรรษาอยู่วัดแจ้ง  ด้วย  ซึ่งพ่อท่านพลัด  ถือว่าเป็นศิษย์สายเขาอ้อ  รูปหนึ่ง ที่มีวิชาอาคมแก่กล้า มีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งแต่อยู่วัดแจ้ง  พระมหาอุทัย  ในฐานะเป็นชาวพัทลุงเหมือนกัน พ่อท่านพลัด  จึงเมตตา ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้โดยไม่หวง  ในปีพ.ศ. ๒๔๙๙  วัดหาดใหญ่ใน  พึ่งตั้งใหม่ มีสำนักเรียนบาลี แต่ขาดครูสอน พระมหาคลิ้ง  วัดหาดใหญ่ใน  จึงได้นิมนต์พระมหาอุทัย  มาจำพรรษาที่วัดหาดใหญ่ใน  ช่วยสอนบาลี และ มาศึกษาต่อในประโยคที่สูงขึ้น จนสอบได้ เปรียญธรรม ๗ ประโยค  ได้วุฒิครูพิเศษมูลตำแหน่งทางการปกครอง                             
            
            พ.ศ.๒๔๙๙ –๒๕๔๓ เป็นครูสอนบาลี สำนักเรียนวัดมหัตมังคลาราม  
            พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหัตมังคลาราม(หาดใหญ่ใน)  
            พ.ศ.๒๕๑๐ เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ส่วนกลาง โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี)  
            พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นรองเจ้าอาวาสวัดมหัตมังคลราม (หาดใหญ่ใน) เป็นเจ้าคณะตำบลควนลัง  อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา เป็นพระอุปัชฌาย์                พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง      
            พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นเจ้าคณะตำบลทะเลน้อย  อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง เป็นพระอุปัชฌาย์    
                        
            
            มูลเหตุ ที่ได้กลับมายังมาตุภูมิ  ด้วยพระครูกาชาด และ พระอาจารย์ศรีเงิน  ได้อาภาธลงพร้อมกัน  ไม่มีใครได้ทำหน้าที่ดูแลวัด  และขาดผู้สืบทอด พระครูกาชาด  ได้คิดถึงลูกศิษย์ ที่จากบ้านเกิดไปอยู่หาดใหญ่ คือพระมหาอุทัย  วิมโล  วัดหาดใหญ่ใน  เป็นผู้ที่สมควรจะกลับมาสืบทอดเจตนารมณ์ ตำนานเขาอ้อไว้  ด้วยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนในพื้นที่  เป็นศิษย์วัดดอนศาลา  ในปี ๒๕๔๓ ท่านก็ได้ไปไปมามาระหว่าง วัดหาดใหญ่ใน กลับวัดดอนศาลา  เพราะยังมีภาระหน้าที่ ที่หาดใหญ่ อยู่ จนทันตัดสินใจ ลาออกจากเจ้าคณะตำบลควนลัง  รองเจ้าอาวาสวัดหาดใหญ่ใน และครูสอนบาลีสำนักเรียนวัดหาดใหญ่ใน  เพื่อกลับ ไปดูแลปรนนิบัติ อาจารย์  ในปี ๒๕๔๓ พระอาจารย์ศรีเงิน  ก็ได้มรณภาพลง  ท่านก็เป็นแม่งานในการจัดงานศพ  ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่มีความจำเป็นเลิศ  เชี่ยวชาญวิชาบาลี  สามารถแปลภาษาบาลี  เป็นไทยได้อย่างคล่องแคล้วและจำบทสวดมนต์ได้มาก  ช่วงเวลาที่กลับมาปรนนิบัติพระครูกาชาด  เพียงแค่ ปี กว่า แต่ท่านก็ได้วิชาความรู้ ต่างๆ จากพระครูกาชาด  เป็นอย่างมากด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศ  ถึงจะจากสำนักตักศิลาเขาอ้อไปนาน  แต่ก็ยังได้เพราะมีความรู้เบื้องต้นในวัยหนุ่ม และได้กลับมารับช่วงต่อจาก พระครูกาชาด  ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ของสายเขาอ้อในสมัยนั้น  
            
             ดังนั้น พ่อท่านมหาอุทัย   วิมโล  จึงถือได้ว่าเป็นศิษย์สายเขาอ้อ  ได้สืบทอดวิชา จาก พระครูรัตนาภิรัต (พ่อท่านเน)  วัดควนปัตตาราม  พ่อท่านปาล  วัดเขาอ้อ  พระครูกาชาด (พ่อท่านบุญทอง)  พระครูภัทรธรรมรัต (พ่อท่านพลัด)  วัดโคกสูง  พระมงคลพฤฒาจารย์  (พ่อท่านคลิ้ง)  วัดหาดใหญ่ใน   พระครูมงคลสถิตย์  (พ่อท่านแก้ว)  วัดหาดใหญ่ใน  พ่อท่านแก้ว  รูปนี้ เป็นลูกศิษย์พ่อท่านมหาลอย  วัดแหลมจาก ปากรอ  และก็ยังมีพระอาจารย์ไข่  วิมโล  วัดหาดใหญ่ใน  อีกรูป  ซึ่งแต่ละรูปมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน  เข้มขลังกันคนละแบบ  ได้มาหลอมรวมอยู่ในตัว พ่อท่านมหาอุทัย  วิมโล  รูปนี้อย่างเต็มเปี่ยม  นับว่าเป็นพระเถระผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา  เข้มขลัง  ทั้งพระวินัย  บาลี  และอาคม  เป็นที่น่าสักการบูชากราบได้อย่างสนิทใจ  ในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ ท่านได้จัดสร้าง  วัตถุมงคลอาจารย์นำ  ประกอบด้วย  ผาลไถ อาจารย์นำ  เหรียญหล่อ อาจารย์นำ รุ่นแรก  พระผงอาจารย์นำ  รุ่น อายุวัฒนมงคล ๘๔ ปี พ่อท่านมหาอุทัย  พุทธาภิเษก ในถ้ำฉัตทันต์  วัดเขาอ้อ  พิธีใหญ่  
            

            และในปี พ.ศ.๒๕๕๖  ได้ได้อนุญาต ให้จัดสร้างเหรียญรูปเหมือน ของท่านเป็นรุ่นแรก  ที่ระลึก อายุครบ ๘๕ ปี  รูปแบบเหรียญแบบ เหรียญพระอาจารย์นำรุ่นแรก  และเป็นการสร้างเหรียญ รึ่นแรก ตอนอายุ ๘๕ ปี เท่าพระอาจารย์นำ ตอนทำเหรียญรุ่นแรก  จะมีพิธีพุทธาภิเษก  ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖  นับว่าเป็นเหรียญสวย  พุทธคุณขลัง ที่ควรค่าแก่การบูชา และต่อไปจะหาได้ยาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น